7 เทคนิคหยุดพฤติกรรมการเลือกกินของลูก

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

30 มีนาคม 2564

อ่านแล้วจำนวน

249

หลายๆ ครอบครัวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัย 2-3 ขวบ ต้องเจอปัญหาลูกกินยาก เลือกกิน เป็นเพราะในช่วงวัยนี้เด็กๆ เริ่มคิดด้วยตัวเองมากขึ้น รู้จักปฎิเสธ หรือต่อต้าน ถ้าเกิดเจ้าตัวดีเป็นเด็กเลือกกิน อันนั้นไม่กิน อันนี้ไม่ชอบ เรามีเทคนิคมาแนะนำกันค่ะ


หลายๆ ครอบครัวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัย 2-3 ขวบ ต้องเจอปัญหาลูกกินยาก เลือกกิน เป็นเพราะในช่วงวัยนี้เด็กๆ เริ่มคิดด้วยตัวเองมากขึ้น รู้จักปฎิเสธ หรือต่อต้าน ประกอบกับอาหารเมื่อโตขึ้นกินไม่ง่ายเหมือนนมหรืออาหารเสริมตอนขวบปีแรก บ้านไหนมีลูกกินง่ายก็สบายใจไป แต่ถ้าเกิดเจ้าตัวดีเป็นเด็กเลือกกิน ร้องงอแง กินยาก อันนั้นไม่กิน อันนี้ไม่ชอบ เรามีเทคนิคมาแนะนำกันค่ะ

7 เทคนิคหยุดพฤติกรรมการเลือกกินของลูก

1. กินตามแม่ เทคนิคแรกต้องเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์เลยค่ะ ว่ากันว่าถึงลูกจะไม่ได้รับรสชาติอาหารโดยตรงจากแม่เมื่ออยู่ในท้อง แต่แม่ที่กินอาหารหลากหลายเมื่อตั้งครรภ์จะมีแนวโน้มให้ลูกที่เกิดมากินหลากหลายไปด้วย ดังนั้นพฤติกรรมการกินของแม่ตั้งแต่ในครรภ์สำคัญมากค่ะ และเมื่อถึงเวลาลูกโตขึ้นคุณแม่และครอบครัวควรเป็นต้นแบบการกินในแต่ละมื้อ อยากให้เด็กกินอะไร คนในครอบครัวก็ต้องเป็นแบบอย่างค่ะ

2. ไม่ให้ขนมหรือของว่างพร่ำเพรื่อ สำหรับลูกน้อยที่เริ่มโตพอขบเคี้ยวได้แล้ว คุณแม่อย่าให้กินขนมหวาน หรือของว่างที่ไม่มีประโยชน์ก่อนมื้ออาหารหลักเพราะจะทำให้ลูกอิ่มและไม่อยากกินข้าว ควรให้ลูกกินอาหารหลัก และเสริมด้วยผลไม้ และนมระหว่างมื้อดีกว่าค่ะ ถ้าเป็นนมควรเป็นนมแม่หรือนมที่มีกระบวนการผลิตน้ำนมใกล้เคียงกับนมแม่ เช่นนมแพะ เพราะจะเป็นนมที่มีโปรตีนขนาดเล็ก ย่อยง่าย ไม่ทำให้ลูกอิ่มแน่นท้องจนเกินไป ทำให้สามารถกินข้าว หรืออาหารหลักได้พอดีเมื่อถึงมื้ออาหาร

3. ให้ลูกเลือกอาหารเอง ลองให้ลูกเป็นคนเลือกวัตถุดิบมาปรุงอาหารเอง อาจจะหาหนังสือนิทานเกี่ยวกับผัก ผลไม้ หรืออาหารมาให้ลูกดูและคุยกับเขา กระตุ้นให้ลูกสนใจ จากนั้นถ้าได้ผลลองพาเขาไปตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อเลือกซื้อและมาช่วยกันทำ จะทำให้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมกับมื้ออาหารนั้นๆ และอยากกินเพิ่มมากขึ้น

4. อาหารหลากหลาย ดูดีน่ากิน เลือกภาชนะ และจัดตกแต่งอาหารให้ดูน่ากิน อันนี้ไม่ใช่เทคนิคแปลกใหม่ แต่ก็ได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งต้องอาศัยฝีมือคุณแม่พอสมควรในการจัดมื้ออาหารลูกให้ดูน่ากิน กระตุ้นด้วยเรื่องราวในจานอาหาร เพื่อให้ลูกสนใจและอยากกินมากขึ้น

5. ค่อยๆ เพิ่มอาหารแปลกใหม่ พอเห็นว่าลูกชอบกินอะไร คุณแม่ก็ไม่ควรให้ลูกกินแต่ของเดิมๆ ซ้ำๆ ที่ลูกชอบ ควรค่อยๆ เพิ่มอาหารที่มีประโยชน์แปลกใหม่เข้าไปทีละนิด แต่ค่อยๆ ทำด้วยความแนบเนียนไปกับอาหารเดิมๆ ที่ลูกชอบ ไม่ต้องแนะนำว่าวันนี้มีอะไรใหม่เพราะลูกอาจจะเกิดอาการต่อต้านขึ้นได้ รอจนลูกเริ่มคุ้นก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น และทำกับอย่างอื่นๆ ไปเรื่อยๆ >> คลิกดูสูตรอาหาร ไอเดียเมนูแปลกใหม่เพื่อลูกรัก

6. เอาเมนูนมที่คุ้นเคยมาดัดแปลง ตัวอย่างปัญหาที่คุณแม่หลายบ้านเจอคือลูกกินนมและไม่ยอมกินข้าว ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ลูกไม่คุ้นเคยกับการบดเคี้ยวอาหาร หรือยังคุ้นเคยกับกลิ่น กับรสชาติของนมมากกว่า คุณแม่ลองนำนมแม่ หรือนมที่ลูกกินมาดัดแปลงร่วมกับอาหารเพื่อให้ลูกยังได้รับรสและกลิ่นที่คุ้นเคย เช่น นำนมมาผสมในข้าวบด เนื้อสัตว์ผักบด เป็นต้น นอกจากจะช่วยให้ลูกกินง่ายขึ้นแล้ว ลูกยังได้สารอาหารที่ครบถ้วนจากน้ำนมอีกด้วยค่ะ

7. ต้องทำใจแข็ง บางครั้งถ้าใช้ไม้อ่อนไม่สำเร็จอาจจะต้องยอมใจแข็งกันดูบ้าง ถ้าถึงมื้ออาหารแล้วลูกไม่ยอมกิน หรือเลือกกินไม่ควรใจอ่อน ไม่จำเป็นต้องอ้อนวอน หรือดุว่า แต่ควรให้ลูกหยุดกิน และรอเวลามื้อต่อไปเลย ถ้าลูกหิวจะยอมกินเอง ซึ่งเทคนิคนี้คุณแม่หลายคนมักจะทำได้ยากเพราะจะใจอ่อน และสงสารลูก แต่ถ้าลูกกินก็ควรกล่าวชื่นชม ให้กำลังใจค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง