ช่วยแม่ท้องเตรียมพร้อม ทำอย่างไรให้ท้องนี้ปลอดภัยจาก “ไวรัส Covid-19”

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

30 มีนาคม 2564

อ่านแล้วจำนวน

95

ช่วยแม่ท้องเตรียมพร้อม ทำอย่างไรให้ท้องนี้ปลอดภัยจาก “ไวรัส Covid-19” โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอ่อนไหวต่อโรคต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหญิงตั้งครรภ์ นักวิจัยกำลังเร่งศึกษาถึงผลกระทบ และการให้ความช่วยเหลือรวมถึงการป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยให้แม่ท้องตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ และนี่คือวิธีดูแลเพื่อช่วยคุณแม่รับมือ และปลอดภัยจากเชื้อไวรัสนี้ค่ะ 

คนท้องเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า?

ข่าวดี คือ ยังไม่พบข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ผิดกันกับโรค SARS (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) ในปี 2003 พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีอัตราการเสียชีวิตสูง (ประมาณ 25%) มากกว่าประชากรทั่วไป (ประมาณ 10%) 

สอดคล้องกับในประเทศจีนที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 เหมือนกับในผู้ใหญ่ทั่วไปที่ติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานจากหญิงตั้งครรภ์มากนัก โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง1-2 ไตรมาสแรก

แม่ท้องควรระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษในช่วงนี้?

ในระหว่างตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันของแม่ท้องจะลดลง ทำให้แม่ท้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร หรือระบบทางเดินหายใจสูง แม่ท้องจึงควรจัดอยู่หนึ่งในกลุ่มเสี่ยง ที่ควรจะต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเรื่อง...

• หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะ

• หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วย (ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม)

• ล้างมือให้สะอาด และถูกหลักอนามัยอยู่เสมอ

• ไม่สัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก

• รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก สดใหม่อยู่เสมอ 

• หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะรับประทานอาหารและของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น

• สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน

• รักษาระยะห่าง social distancing ในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ด้วยการอยู่ห่างกัน 1 – 2 เมตร

• ปรึกษาแพทย์ผู้ฝากครรภ์ รับวิตามินให้เพียงพอ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น (ถ้าอยู่ในระหว่างไตรมาสที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทุกสัปดาห์ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ฝากครรภ์เพื่อรับวิตามินให้เพียงพอ เลี่ยงการเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น)

• สำหรับแม่ท้องในไตรมาสที่ 3 ควรวางแผนการคลอด การเดินทาง ประเมินสถานการณ์ และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอด

• บางโรงพยาบาลในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ จะจำกัดผู้เยี่ยม และผู้เฝ้าหลังคลอด คุณแม่อาจจะต้องวางแผนเรื่องนี้เผื่อเอาไว้ด้วยเช่นกันค่ะ 

• แม่ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการป่วยเล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์

• ไม่วิตกกังวลเป็นเกินเหตุ เพราะความเครียดคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกันค่ะ 

สำหรับแม่ท้อง และแม่หลังคลอดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

 

 กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 คุณแม่ควรดูแลตัวเองตามหลักกระทรวงสาธารณะสุขดังนี้ค่ะ

• แยกตนเองออกจากครอบครัว และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

• งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จำเป็น และงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร

• กรณีครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

• กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน

วางแผนการให้นมหลังคลอด

สำหรับคุณแม่กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปกติ หรือกลุ่มที่ติดเชื้อ ทุกคนสามารถให้นมแม่ได้ เพราะเนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าเชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านทางน้ำนม แต่! ยังคงต้องรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการให้นมแม่โดยตรง หรือการปั๊มนมค่ะ 

ข้อควรปฎิบัติเมื่อต้องให้นมแม่ 

• สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการให้นม ปั๊มนม

• งดการหอม จูบ ทารก

• อาบน้ำ เช็ดทำความสะอาดเต้านม หัวนมด้วยน้ำ และสบู่

• ล้างมือด้วยน้ำสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที อย่างทั่วถึง

• หลังการปั๊มนมอย่าลืมทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกอย่าง ล้าง นึ่ง อบฆ่าเชื้อ และเก็บในสถานที่ภาชนะที่สะอาด และมิดชิด 

หมายเหตุ: แต่ถ้าคุณแม่มีอาการป่วยหนักเช่น ไอ หายใจติดขัด หอบเหนื่อยควรหยุดพัก และรับปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิมได้

สำหรับแม่ท้องถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ก็ยังคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และวิตามินที่แพทย์สั่ง พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้คุณแม่ และลูกน้อยในท้องปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ค่ะ 

อ้างอิงเนื้อหา:

• https://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=16777&filename=index 

• https://www.npr.org/sections/health-shots/2020/03/22/817801475/pregnant-and-worried-about-coronavirus-how-to-stay-safe-and-make-a-game-plan

บทความที่เกี่ยวข้อง