อาหารเป็นพิษ เรื่องใกล้ตัวเด็กที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

01 เมษายน 2564

อ่านแล้วจำนวน

457

อาหารเป็นพิษเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ฟังดูอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ความแตกต่างของอาการก็คือ เมื่อเด็กเป็นแล้วความรุนแรงมักจะมากกว่าที่ผู้ใหญ่เป็น เนื่องจากเด็กๆ อาจทนภาวะขาดน้ำได้ไม่มากเท่า ดังนั้นเมื่อลูกเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกแบบ Advance ต้องรับมือกับเรื่องนี้ให้ได้ค่ะ 

สาเหตุและอาการ อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ คือ อาการป่วยที่เกิดจากการทานอาหารที่มีสารพิษหรือเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนเข้าไป เช่น พิษของเชื้อ Staphylococcus aureus, E.coli, Clostridium botulism, Bacillus cereus เมื่อเด็กๆ ทานอาหารที่มีพิษของเชื้อเหล่านี้เข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว

ส่วนอาการที่เกิดขึ้นจะเกิดเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษของแบคทีเรียที่ร่างกายได้รับ เด็กบางคนอาจเกิดเร็วใน 1-2 ชั่วโมง แต่เมื่อร่างกายขับพิษออกมาเป็นการถ่ายหรืออาเจียนหลังจากนั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่บางคนก็อาจมีอาการ 1-2 วันได้เช่นกัน 

อาหารเป็นพิษส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากกรรมวิธีการปรุงอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารไม่สด หรือเก็บไว้นานจนเกิดแบคทีเรียเมื่อเด็กๆ ทานเข้าไปจึงทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้นั่นเอง

การดูแลลูกเมื่ออาหารเป็นพิษ 

ควรให้ลูกกินยาแก้อาเจียนและดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ และไม่ควรให้ลูกกินยาระงับการขับถ่ายหรือยาแก้ท้องเสีย เพราะจะยิ่งทำให้สารพิษอยู่ในร่างกายนานขึ้น หากลูกอายุต่ำกว่า 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ต้องให้น้ำเกลือแร่กับลูกเร็วขึ้น เพราะเด็กเล็กไม่อาจทนภาวะขาดน้ำได้ดีเท่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่อย่างเราๆ นอกจากนี้อาการอาหารเป็นพิษจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ทานเข้าไป ถ้าทานมากจะมีอาการรุนแรงกว่าคนที่ทานน้อย และคนที่ร่างกายแข็งแรงจะทนต่อการขาดน้ำได้ดีกว่าค่ะ

ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรสังเกตลูกด้วยว่ามีอาการขาดน้ำหรือไม่ ลักษณะของอาการ ได้แก่ ปากแห้ง กระบอกตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็วและปัสสาวะน้อยลง ถ้าพบสัญญาณเหล่านี้ให้รีบพาลูกไปหาหมอทันทีค่ะ ถ้าอาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เราควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ต่อไป พยายามให้ลูกดื่มนมทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาเจียน ส่วนอาหารการกินของลูกควรเป็นอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม เพราะย่อยง่าย 

อาหารที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

• สลัดที่ราดมายองเนสมากๆ 

• ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค

• ไข่ดิบ 

• สัตว์มีเปลือกเช่น กุ้ง หอย หอยแครง หอยแมลงภู่ 

• น้ำผลไม้สดไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ

• ถั่วงอก และผักลวกที่ลวกทิ้งไว้นาน

• นมสดที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และเนยแข็ง

• อาหารกระป๋องที่หมดอายุ

• พริกดองสำหรับปรุงรส 

วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ

1. ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังทำกับข้าว

2. ควรแยกอาหารสด อาหารแห้ง ผักผลไม้ ไข่ไก่ออกจาก เพราะเชื้อโรคจากเปลือกไข่ หรือจากเนื้อสัตว์อาจหลุดเข้ามาปะปนในอาหารอื่นๆ ได้

3. อย่าทิ้งเนื้อสดไว้นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อนจะเร่งให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

4. ควรมีกล่องหรือภาชนะที่ปิดสนิทใส่เนื้อหมู เนื้อไก่ เพื่อป้องกันกลิ่นและเชื้อโรคปนเปื้อนอาหารอื่นๆ

5. ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำจากก๊อก แช่ด่างทับทิมหรือโซเดียมไบคาร์บอเนต และควรแช่ไว้ประมาณ 15 นาทีก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง

6. ควรแยกเขียงสำหรับเนื้อสัตว์ไว้ต่างหาก และเมื่อใช้เสร็จควรขัดให้สะอาดแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น

อาหารเป็นพิษเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวลูกเรามาก คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามปรุงอาหารให้สะอาด และสุกอยู่เสมอ รวมทั้งล้างมือก่อนและหลังทานข้าว รวมถึงเลือกอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดี เพราะนอกจากจะปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษแล้ว ยังถือเป็นการเลี้ยงลูกแบบ Advance ด้วย