ลูกติดจอ ทำอย่างไร?

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

09 มิถุนายน 2564

อ่านแล้วจำนวน

612

 

ทุกวันนี้หลายๆ ครอบครัวมักจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเลี้ยงลูกกันมากขึ้น เช่น ปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ หรือแท็บเล็ตทั้งวัน เพื่อให้เด็กสงบนิ่ง หรือหยุดร้องไห้ ซึ่งในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด เนื่องจากวัยนี้เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ การใช้สื่อที่มากเกินไปอาจมีผลทำให้พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น ปัญหาการเรียน ปัญหาการนอนหลับ ความผิดปกติของการกินและโรคอ้วน ขาดความสมดุลในชีวิต เพราะมัวแต่เอาเวลามาจับจ้องหน้าจอ

วิธีแก้ลูกติดหน้าจอ 

1. อย่าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือคนเดียว 
เวลาให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ คุณแม่ต้องคอยสอดส่องดูแล และนั่งอยู่กับลูกเวลาเล่นด้วย คอยดูว่าเขาเล่นอะไร มีความเหมาะสมมั้ย อธิบายและให้คำแนะนำกับลูกระหว่างเล่นด้วยเสมอ เพื่อเป็นการเสริมพัฒนาการและเรียนรู้ไปในตัว เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ 

 2. หากิจกรรมอื่นทำ ใช้เวลาร่วมกัน
 นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่สนุก สร้างสรรค์ และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ ถ้าหากลูกเริ่มติดจอมากจนเกินไป ให้ลองหากิจกรรมอื่นทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ต่อบล็อก ต่อPUZZLE จิ๊กซอว์ อ่านนิทาน ร้องเพลง เต้นประกอบจังหวะ หรือออกกำลังกายด้วยกัน เพื่อให้ลูกละสายตาจากหน้าจอ ออกมาสนใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นและยังได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นด้วย 

 3. คุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้อย
 หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูก เพราะเด็กจะมีความสนใจ อยากรู้อยากเห็นว่าคุณแม่นั้นกำลังดูอะไรในหน้าจออยู่ แต่หากต้องควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อย คุณแม่ก็ควรจะต้องมีวินัยและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเสียก่อน เช่น ไม่เอามือถือออกมาดูเวลาทานอาหาร นอกจากจะได้แสดงให้ลูกเห็นแล้ว การที่คุณแม่วางโทรศัพท์มือถือลง ก็จะทำให้มีเวลาไปดูแลลูกมากขึ้นด้วย 

 4. กำหนดเวลาเล่นให้ชัดเจน 
 คุณแม่ควรมีกำหนดเวลาให้ลูกน้อยเล่นโทรศัพท์อย่างชัดเจน เพื่อเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกน้อยไปด้วย สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ไม่ควรให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือเกินวันละ 1 ชั่วโมง และในวันหยุดอาจจะเพิ่มเป็นให้เล่นได้วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง 

 5. ทำใจแข็งเข้าไว้ กฎต้องเป็นกฎ
คุณแม่บางคนอาจจะใจดี และเผลอตามใจลูก เมื่อลูกงอแงขอเล่นเกินเวลาที่กำหนด แต่กฎก็ควรเป็นกฎ คุณแม่ต้องใจแข็งและยึดถือกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ไม่มีการขอต่อเวลา แต่ไม่จำเป็นต้องดุหรือลงโทษรุนแรง เช่น ก่อนที่จะหมดเวลา ให้เตือนลูกว่า “อีก 10 นาทีจะหมดเวลาดูยูทูบแล้วนะ” ถ้าหมดเวลาแล้วลูกไม่ยอมทำตามข้อตกลง เราก็ต้องให้หยุด และยึดเครื่องคืน 

ไม่ว่าจะกำหนดขอบเขตอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่ความสม่ำเสมอ ไม่ใจอ่อนยอมตามลูก ช่วงแรกๆ ของการปรับพฤติกรรม เด็กๆ อาจงอแงเล็กน้อย แต่ถ้าคุณรักษากฎอย่างเข้มแข็ง เขาจะเริ่มปรับตัวได้ สุดท้ายคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะขอบคุณและให้คำชมกับลูกเมื่อเขาสามารถทำตามข้อตกลงได้ เพื่อที่ครั้งต่อไปลูกจะได้ปฏิบัติตามอยู่เสมอ

บทความที่เกี่ยวข้อง