คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับมืออย่างไร เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยน

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

26 พฤษภาคม 2564

อ่านแล้วจำนวน

2255

 

เรื่องของความเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนทางด้านอารมณ์เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ที่คุณแม่ต้องเผชิญในช่วงการตั้งครรภ์ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางระดับฮอร์โมน ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวนไปมาและควบคุมยาก เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย น้อยใจ เกิดความสับสนภายในจิตใจ

ฮอร์โมนคนท้องมีอะไรบ้าง

ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงทำหน้าที่พัฒนาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ แต่เมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนนี้จะถูกผลิตออกมาจากรกอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ให้เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และช่วยให้ทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่และรกในระหว่างตั้งครรภ์ มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อให้ไข่ที่ถูกผสมจนเกิดการปฏิสนธิฝังตัวและเติบโตเป็นทารกได้

ฮอร์โมนฮิวแมนดอร์โอนิกโกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ฮอร์โมน HCG เป็นฮอร์โมนที่พบได้ในระหว่างตั้งครรภ์ สร้างมาจากถุงน้ำคร่ำที่อยู่ติดกับมดลูก (Chorian) ฮอร์โมนชนิดนี้ยังก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในสตรีมีครรภ์ได้ด้วย ซึ่งจะสังเกตได้ว่า คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องคลื่นไส้อาเจียนในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ HCG สูงมากๆ นั่นเอง

ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human Placental Lactogen: HPL) ฮอร์โมน HPL ถูกผลิตขึ้นภายในรก มีคุณสมบัติในการสลายไขมันเพื่อให้เลือดแม่และทารกมีกรดไขมันสูงขึ้น มีส่วนกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมเพื่อเตรียมในการผลิตน้ำนมมากยิ่งขึ้นและมีหน้าที่ส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ด้วย

วิธีรับมือเมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง

คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เพราะอารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญต่อลูกน้อยในครรภ์มาก แค่คุณแม่มีอารมณ์ซึมเศร้ารวมถึงอาการเครียด ก็สามารถส่งผลเสียต่อลูกระหว่างตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ อาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น การคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ นอนน้อยปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ก็ส่งผลทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย เพลีย เครียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยคุณแม่สามารถผ่อนคลายความเครียดได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

 

   


1. ข้าใจ เรียนรู้ และยอมรับ ความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์

2. หลีกเลี่ยงการทานยา  หรือเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับทารกในครรภ์ได้ 

3. ดูแลตัวเอง ใช้เวลาทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายหายเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ จัดดอกไม้ วาดรูป ออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ นั่งสมาธิ เป็นต้น

4. การพักผ่อนให้เพียงพอถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญต่อคุณแม่ การนอนให้ถูกท่า โดยท่าที่แนะนำคือ ท่านอนตะแคงทางซ้ายและง่อเข้าเล็กน้อย เพื่อการไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายได้ดี ลดการวิงเวียนศีรษะ เวลาในการนอนที่ดี คือ 7 – 9 ชั่วโมงต่อคืน ให้คุณแม่ได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และการดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณแม่หลับสบายยิ่งขึ้น 

5. นอกจากนี้คนรอบข้างก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเครียดของคุณแม่ได้ โดยเฉพาะสามีและคนในครอบครัวที่ควรทำความเข้าใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

ความเครียดและความกังวลทุกอย่างจะผ่อนคลายไปได้ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์นึกถึงความปลอดภัยและทำทุกอย่างเพื่อทารกในครรภ์ ลองลูบท้อง พูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์บ่อยๆ ก็จะช่วยให้คุณแม่จะสบายใจได้ การเปลี่ยนแปลงของตัวคุณแม่ทั้งทางร่างกายและอารมณ์เป็นผลมาจากการมีทารกน้อยในครรภ์ แต่ถ้ามากเกินไปจนรับมือไม่ไหว ควรจะพบแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและวิธีการรับมืออารมณ์ที่แปรปรวนระหว่างตั้งครรภ์

บทความที่เกี่ยวข้อง