ดื้อ วีน ขี้โมโห อารมณ์วัยเตาะแตะ

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

31 มีนาคม 2564

อ่านแล้วจำนวน

78

…. เสียงดัง โวยวาย ร้องไห้ไม่หยุด กรี๊ด ลงไปนอนกับพื้น ตีอกชกหัว ขว้างปาข้าวของ ห้ามไม่ฟัง

…. อาการแบบนี้ของลูกๆ พ่อแม่อย่างเราๆ ไม่ปลื้มแน่นอนค่ะ

สาเหตุของอาการ

• เป็นพัฒนาการตามวัย: มักเกิดกับเด็กวัย 2 – 3 ปี เพราะเป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง จึงยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หากแต่ยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง

• เรียกร้องความสนใจ: เด็กวัยนี้มักจะต้องการความสนใจและใส่ใจจากคุณพ่อคุณแม่มากเป็นพิเศษ เพราะเขาเริ่มรู้จักและสนใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น แน่นอนว่าเขาต้องการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคุณอยู่ตลอดเวลา 

• เอาแต่ใจตัวเอง: ข้อนี้เป็นสาเหตุที่เรียกได้ว่า ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิงค่ะ เพราะเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองมักจะไม่มีเหตุผลและมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ ต้องการเอาชนะคุณ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

วิธีรับมือ

• หาสาเหตุ: ทำได้โดยการสังเกตหรือถามลูกตรงๆ ว่าเป็นอะไร ต้องการอะไร

• แก้ปัญหาให้ตรงจุด: ถ้าลูกง่วงนอน ร้อน หิว คุณแม่ควรตอบสนองให้ทันท่วงทีก่อนลูกจะอารมณ์เสียมากจนเหตุการณ์บานปลาย

• กอดลูก: แค่เพียงสัมผัสด้วยความรัก ปลอบโยน แสดงให้เห็นว่าคุณรักและสนใจเขา ลูกจะรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์

• เบี่ยงเบนความสนใจ: ถ้าลูกโยเยงอแงจากสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ คุณแม่อาจชวนคุย ชวนดูโน่นนี่ ให้ลูกลืมอารมณ์เสีย

• ให้ลูกได้ตัดสินใจเอง: เช่น เมื่อลูกงอแงไม่อยากแต่งตัว คุณแม่อาจชวนให้เค้าเลือกเสื้อผ้าเองบ้าง“มาดูซิ วันนี้ลูกอยากใส่เสื้อสีอะไรดีน้า” “เอ๊... ใส่เสื้อพี่หมี หรือพี่กระต่ายดีเอ่ย” เป็นต้น

• ปล่อยให้อาละวาด: ถ้าลูกร้องไม่หยุด ไม่ให้อุ้ม ดิ้นกับพื้น คุณแม่ควรปล่อยให้ร้อง เดินหนี ไม่สนใจ (คอยสังเกตว่าลูกปลอดภัย) เมื่อลูกสงบลงค่อยกลับไปอุ้ม ลูกจะเรียนรู้ว่าการร้องไห้ขัดขืนต่อต้าน ไม่ใช้วิธีที่ทำให้แม่สนใจ

• สั่งสอนและให้เหตุผล: คุณแม่ควรสอนลูกและชี้ให้เขาเห็นเหตุผล สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำทุกครั้งทันทีที่ลูกสงบลงแล้ว 

• ชมเชย: ควรชมเชยให้กำลังใจ เมื่อลูกยอมสงบ เป็นเด็กดี เพื่อให้เขารู้ว่านี่คือสิ่งดี ที่ควรทำ แม่รักลูกที่ลูกเป็นแบบนี้

• พูดคุยกับลูกบ่อยๆ: ให้ลูกได้มีโอกาสแสดงความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และให้ลูกได้รู้ว่าคุณใส่ใจในตัวเขา

ข้อควรระวัง

• อย่าแหย่หรือแกล้งให้ลูกอารมณ์เสีย: ลูกจะกลายเป็นคนขี้หงุดหงิดไปโดยใช่เหตุ

• ไม่พูดเชิงลบ: เช่น ลูกนี่ดื้อจริงๆ ทำไมเป็นเด็กก้าวร้าวแบบนี้ แม่เกลียดมากเวลาลูกเป็นแบบนี้ ฯลฯ

• ไม่ตะคอก ดุด่า: ลูกจะเลียนแบบอารมณ์และคำพูดคุณแล้วนำไปใช้เมื่อรู้สึกโกรธ

• ไม่ลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกาย: ลูกจะเข้าใจว่าการทำร้ายร่างกาย คือ วิธีแก้ปัญหาเมื่อโกรธ

• ไม่เข้าไปโอ๋ลูกขณะลูกกำลังถูกอบรมอยู่: ข้อนี้คุณควรสร้างกติกากับคนในบ้านให้ชัดเจน เพราะขณะที่คนใดคนหนึ่งกำลังปรับพฤติกรรมของลูก แต่อีกคนกลับทำสิ่งตรงข้าม ลูกจะไม่เรียนรู้สิ่งที่ควรทำ แต่จะกลายเป็นว่าโดนดุไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนมาช่วย แม้ว่าอาการ ดื้อ วีน ขี้โมโห จะเป็นพัฒนาตามวัย เกิดได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าไม่อยากเข้าสุภาษิต ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าได้ละเลยให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายมาเป็น ‘นิสัย’ ที่แก้ไม่หายนะคะ

Tips: ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้วีน สิ่งที่คุณแม่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอในการรับมือกับลูก คือ ต้องเข้าหาลูกอย่างเป็นมิตร มีเมตตา และไม่ทำเมื่ออยู่ในอารมณ์โกรธ ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง