ทำตามนี้ดีแน่เทคนิคกระตุ้นนมแม่อย่างไรให้ได้ผล

เขียนโดย

DG Smartmom

เผยแพร่เมื่อ

30 มีนาคม 2564

อ่านแล้วจำนวน

347

คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่อาจจะกำลังเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ น้ำนมไหลช้า น้ำนมไม่มา นมหด สบายใจ เลิกนอยด์ หายห่วงได้เลยค่ะ เพราะเรามีเทคนิคที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมได้สำเร็จตลอดปี

รีบเข้าเต้าให้เร็วที่สุด

หลังคลอดลูกสามารถดูดนมคุณแม่ได้เลยเหมือนเป็นสัญชาตญาณ โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดตามกำหนด ยิ่งถ้าสามารถดูดได้ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอดจะยิ่งช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมแม่แบบ "อะโพไครน์" ที่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกของลูก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยค่ะ

ลูกคือสุดยอดเครื่องปั๊มนม

ให้ลูกดูดจากเต้า น้ำนมจะไหลได้ดี และสม่ำเสมอกว่า เพราะเมื่อลูกดูด คุณแม่จะรู้สึกถึงความรัก อารมณ์ความเป็นแม่จะเต็มเปี่ยม ลูกก็ดูดได้ตามจังหวะพอดี เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม หรือถ้าคุณแม่เป็นสายปั๊ม ลองดูรูปลูก หรือมองลูกขณะปั๊ม ก็ช่วยเรียกอารมณ์มนุษย์แม่ได้เช่นกันค่ะ


เลือกอาหารดีน้ำนมมีแน่นอน

หลังคลอดร่างกายคุณแม่ต้องการสารอาหารที่จะเข้าไปช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหลอ และยังต้องผลิตน้ำนมเพื่อเบบี๋น้อย มื้ออาหารคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ ไม่ต้องกดดัน หรือกังวลว่ารับประทานอะไรได้ไม่ได้ เพียงเลือกเมนูที่มีประโยชน์ และถูกปาก ปรุงสุกสะอาด

เพิ่มเมนูเรียกน้ำนม เช่น ขิง หัวปลี ฟักทอง ใบกระเพรา กุยช่าย มะละกอ ใบแมงลัก พริกไท ตำลึง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ดื่มนมแพะอุ่นๆ ก่อนนอน ก็จะช่วยเสริมพลังงานเรียกน้ำนมได้เป็นอย่างดีค่ะ


ท่าให้นมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

บางครั้งการดูดผิดวิธี ผิดท่าก็เป็นอุปสรรคต่อการดูดนมของลูก คุณแม่ลองเลือกท่าให้นมที่แฮปปี้ทั้งคุณแม่คุณลูก ใช้หมอนให้นมดันจะช่วยให้คุณแม่ถนัดขึ้น ให้ลูกน้อยงับให้ถึงลานนม ไม่ใช่ที่หัวนม จะช่วยลดอาการหัวนมแตก และทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

สรีระไม่ใช่ปัญหามีทางออก

สำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องสรีระของเต้านม ในเบื้องต้นคุณแม่ที่หัวนมสั้นแบน หัวนมบอดขั้นต้น ก่อนให้ลูกน้อยเข้าเต้า ให้คุณแม่ใช้นิ้ววอร์ม และคีบดึงหัวนมออกมาก่อนให้ลูกดูด หรือจะเลือกใช้แผ่นครอบหัวนมครอบขณะให้ลูกดูด ใช้เครื่องปั๊มนมปั๊มดึงหัวนมก่อนเอาลูกเข้าเต้า ทำไปเรื่อยๆ ลูกดูดบ่อยๆ จะช่วยให้หัวนมค่อยๆ โผล่ออกมาในที่สุดค่ะ

หมายเหตุ : คุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอดขั้นรุนแรง สามารถรับคำแนะนำได้จากคุณหมอ หรือคลินิกนมแม่เพิ่มเติมได้เช่นกันค่ะ

นอกเหนือสิ่งอื่นใด อีกหนึ่งกฎเหล็กสำคัญคือ คุณแม่ต้องห้ามเครียด และไม่กดดัน เพราะความเครียดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการสร้างน้ำนม ยิ่งเครียดน้ำนมก็จะยิ่งมาช้า ถึงแม้ว่าในช่วงวันแรกๆ น้ำนมอาจจะยังมาไม่เท่าใจหวัง แต่ถ้าคุณแม่พยายาม รับรองว่าน้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเพียงพอสำหรับลูกน้อยแน่นอนค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง